
กองทุนแต่ละประเภท มีความเสี่ยงต่างกันอย่างไร รู้ไว้ก่อนคิดลงทุน
การลงทุนกับกองทุนเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการทำให้เงินงอกเงย ไม่ว่าจะเป็นลงทุนเพื่ออิสรภาพทางการเงินในอนาคต หรือต้องการหาเงินสร้างรายได้เพื่อให้มีเงินเก็บออมเอาไว้ใช้ในยามเกษียณ ซึ่งก็มีกองทุนอยู่มากมายหลายประเภทและมีรูปแบบในการลงทุนแตกต่างกันออกไป ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ตามความสนใจ อย่างไรก็ตามคงจะเคยได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ว่าการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนกับกองทุนใด ๆ จึงต้องพิจารณาว่าสามารถที่จะยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน หากคุณไม่ต้องการการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากนัก ก็ควรที่จะเลือกลงทุนกับกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือหากต้องการผลตอบแทนในระดับสูง ก็คงต้องพิจารณาเอาว่าสามารถยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ไหม และสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยลงทุนกับกองทุนรวมมาก่อน แต่มีความสนใจที่จะลงทุน วันนี้เราก็มีข้อมูลเกี่ยวกับกองทุน ความเสี่ยงมาบอกกล่าวกัน โดยกองทุนรวมที่แบ่งออกได้ทั้งหมดเป็น 8 ตามการแบ่งในประเทศไทย มีระดับความเสี่ยงจากน้อยไปมาก ดังนี้
1. กองทุนรวมตลาดเงินในประเทศ
เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำแทบจะไม่ต่างอะไรกับการฝากเงินกับธนาคาร มีโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้น้อย เป็นการลงทุนในระยะเวลาสั้น ๆ โดยจะลงทุนซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ที่มีอายุสั้นกว่า 1 ปี แล้วให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ที่มีความมั่นคงและน่าเชื่อถือเช่น ธนาคาร รัฐบาลได้กู้เงินจากกองทุน อย่างไรก็ตามแม้จะได้ชื่อว่าเป็นกองทุนความเสี่ยงต่ำ ผู้ลงทุนก็ควรที่จะศึกษาให้ดีก่อนลงทุนเสมอ
2. กองทุนรวมตลาดเงินต่างประเทศ
กองทุนประเภทนี้มีรูปแบบในการลงทุนเหมือนกองทุนประเภทแรก เพิ่มเติมคือ สามารถนำเงินบางส่วนไปลงทุนในพันธบัตรต่างประเทศได้ จึงทำให้กองทุนนี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่แล้วกองทุนรวมประเภทนี้จะมีการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเอาไว้ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว
3. กองทุนรวมที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล
เป็นการลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาล เช่นเดียวกับกองทุนรวมตลาดเงิน แต่การลงทุนในพันธบัตรจะมีช่วงอายุในการลงทุนให้เลือกค่อนข้างหลากหลาย จึงสามารถที่จะเลือกระยะเวลาในการลงทุนที่ยาวนานมากกว่า 1 ปีขึ้นไปได้ แต่จะมีความผันผวนในเรื่องราคามากกว่ากองทุนรวมตลาดเงิน
4. กองทุนรวมตราสารหนี้
กองทุนรวมตราสารหนี้หรือที่เรียกอีกอย่างได้ว่าหุ้นกู้ เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ของเอกชน และมีความเสี่ยงมากกว่าตราสารหนี้แบบธรรมดาซึ่งจะมีความผันผวนมากกว่า แต่อย่างไรก็ดีการลงทุนในกองทุนนี้ก็ยังไม่จัดว่ามีความเสี่ยงมากนัก จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในระดับความเสี่ยงที่ไม่สูงมาก ซึ่งก็แล้วแต่ว่าตราสารหนี้ที่ผู้ลงทุนถือครองอยู่นั้นเป็นแบบเปิดหรือแบบปิด แต่การลงทุนแบบนี้มีข้อดีคือมีผู้จัดการคอยดูแลบริหารความเสี่ยงให้ และเป็นการลงทุนในรูปแบบการออมจึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนเพื่อวัยเกษียณ และหากต้องการที่จะได้ผลตอบแทนที่เพิ่มสูงขึ้นกองทุนนี้ก็สามารถที่จะไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศได้ด้วยเช่นกัน
5. กองทุนรวมแบบผสม
กองทุนรวมแบบผสมเป็นกองทุนที่เป็นลูกผสมระหว่างตราสารหนี้และตราสารทุน (หุ้น) ซึ่งสัดส่วนในการลงทุนจะขึ้นอยู่กับนโยบายของกองทุน โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องลงทุนในหุ้นไม่ต่ำกว่า 35% และไม่เกิน 65% ของมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดของกองทุนรวม เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงในการลงทุนจัดอยู่ในระดับปานกลาง และมีผลตอบแทนที่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ
6. กองทุนรวมตราสารทุน
กองทุนรวมตราสารทุน หรือ ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กองทุนหุ้น โดยจะเป็นการใช้เงินลงทุนในหุ้นทั้งในไทยและในต่างประเทศ เป็นการลงทุนที่มีระดับความเสี่ยงสูงพอสมควร แต่มีผลตอบแทนในระดับที่สูงมากด้วยเช่นกัน และเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนแต่ไม่มีเวลาที่จะบริหารจัดการการลงทุนด้วยตนเอง เนื่องจากกองทุนนี้จะมีผู้จัดการกองทุนที่มีความชำนาญในการลงทุนทำหน้าที่ดูแลการลงทุนให้ ซึ่งผลตอบแทนจะเป็นเช่นไรนั้นก็แล้วแต่ว่าผู้จัดการคนนั้น ๆ จะมีสไตล์ในการลงทุนเป็นเช่นไรนั่นเอง
7. กองทุนรวมตามหมวดอุตสาหกรรม
เป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นเช่นเดียวกัน แต่จะเน้นที่หุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น จะเน้นการลงทุนในกลุ่มโรงพยาบาล หรือกลุ่มพลังงาน หากมีความสนใจที่จะลงทุนในกองทุนประเภทนี้ จำเป็นที่จะมีความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมที่จะลงทุนนั้น ๆ ในระดับที่พอสมควรทีเดียว
8. กองทุนรวมทางเลือก
เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก ไม่ว่าจะเป็น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ หรือน้ำมัน เนื่องจากเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีระดับความเสี่ยงค่อนข้างที่จะซับซ้อน จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในระดับที่สูงกว่ากองทุนอื่น ๆ
หากคุณยังไม่มีประสบการณ์ในการลงทุนกับกองทุนรวมมากนัก การลงทุนในระดับความเสี่ยงตั้งแต่ข้อ 1-6 ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้นเชี่ยวชาญในการลงทุนเพิ่มขึ้น จึงค่อยขยับไปศึกษาลงทุนในระดับ 7-8 ก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในระดับไหนผู้ลงทุนก็ควรศึกษาหาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุนเสมอ
แหล่งอ้างอิง : www.moneybuffalo.in.th › กองทุนรวม
www.alwaysguru.com/8-fund-type
www.morningstarthailand.com/th/news/…/รู้จักความเสี่ยงของกองทุนรวม.aspx
เครดิตภาพ : https://med.mahidol.ac.th